ชิบุยะ / ฮาราจูกุ

ชิบุยะ

ย่านชิบุยะเป็น 1 ใน 3 หัวเมืองย่อยที่สำคัญของโตเกียว เช่นเดียวกับย่านชินจูกุ และย่านอิเคบุคุโระ ที่ย่านนี้จะมีสถานี JR ชิบุยะ ซึ่งเป็นสถานีใหญ่บนสาย Yamanote Line และบริเวณรอบสถานีจะเป็นย่านแสงสีที่ขยายวงกว้างออกไป ย่านนี้เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นแหล่งรวมของวัยรุ่น มีห้างสรรพสินค้า คลับเฮาส์ โรงละคร และโรงหนังรวมกันอยู่ที่นี่ ถือเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมวัยรุ่น ซึ่งนำเทรนด้านแฟชั่นและดนตรีมาโดยตลอด

ที่ย่านนี้มีห้างสรรพสินค้าที่นิยมมากในหมู่สาวๆ วัยรุ่นอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Parco และ Shibuya109 เป็นต้น ซึ่งวัฒนธรรม “คาวาอิ” ก็ถือกำเนิดจากย่านชิบุยะ/ ฮาราจูกุนี่เอง และเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปแล้วทั่วโลก

เมื่อลงรถไฟที่สถานีชิบุยะ เราก็จะเห็นรูปปั้นหมาฮาจิ และห้าแยกชิบุยะเป็นอันดับแรกครับ ห้าแยกชิบุยะเป็นทางแยกซึ่งมีผู้คนผ่านไปมามากมายในแต่ละวัน ซึ่งก็มีรายการทีวีจากต่างประเทศมาถ่ายทำบรรยากาศที่นี่อยู่บ่อยๆ ครับ

ห้าแยกชิบุยะ

ห้าแยกชิบุยะ ซึ่งเป็นสถานที่ขึ้นชื่อของย่านชิบุยะแห่งนี้ จะแตกต่างไปทางข้ามถนนที่มีอยู่ทั่วไปครับ คือเมื่อไฟสัญญาณเปลี่ยนเป็นไฟเขียว ทางเดินรถจะหยุด และผู้คนจะพากันเดินข้ามทางแยกนี้จากทุกทิศทุกทางพร้อมๆ กันครับ ผมไม่ทราบว่าจริงหรือไม่นะครับ แต่ว่ากันว่าใน 1 วันจะมีผู้คนกว่า 5 แสนคนเดินผ่านไปผ่านมาที่นี่ และถือเป็นสถิติโลกด้วยครับ  ซึ่งเวลาที่มีคนข้ามถนนตรงนี้มากๆ ในสัญญาณไฟข้ามแต่ละครั้งจะมีคนเดินข้ามถนนถึงกว่า 3000 คนเลยทีเดียว

เมื่อก่อนนี้รายการทีวีของญี่ปุ่นเองก็เคยติดกล้องบันทึกบรรยากาศที่ห้าแยกนี้เหมือนกันครับ เพื่อดูว่าจะมีเวลาที่ไม่มีคนมาข้ามเลยหรือไม่ ผลที่ได้ในครั้งนั้นก็คือช่วงเวลาประมาณ 3 บ่ายโมงเศษ เป็นเวลาเพียง 30 วินาทีเท่านั้นที่ไม่มีคนข้ามถนนครับ เรียกได้ว่าเป็นห้าแยกที่นอกจากจะมีจำนวนคนข้ามเยอะมากแล้ว ยังมีคนเดินข้ามผ่านไปมาตลอด 24 ชม. อีกด้วย

ห้าแยกแห่งนี้ เป็นสถานที่ถ่ายทำหนังฮอลลีวูดอย่าง Lost in Translation และ Bio Hazard และถูกเผยแพร่ออกสื่อต่างๆ ของต่างประเทศมากมาย ทำให้กลายเป็นสถานที่ยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไปแล้ว ไม่ว่าใครที่มาที่นี่ก็ต้องถ่ายรูปคู่กับห้าแยกชื่อดังแห่งนี้กันครับ

ทุกคนที่มาที่นี่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ทั้งๆ ที่มีคนเดินข้ามไปมากันขวักไขว่แบบนี้ แต่ไม่มีคนเดินชนกันเลย เหลือเชื่อมากๆ !”

มันก็จริงนะครับ ผมก็คิดว่าคงเป็นเรื่องน่าแปลกใจสำหรับชาวต่างชาติที่ได้มาเห็นคนญี่ปุ่นเดินกันขวักไขว่จากทั่วทุกทิศทางแต่กลับมีระเบียบและไม่ชนกันเลยแบบนี้เหมือนกันครับ

รูปปั้นหมาฮาจิ

รูปปั้นหมาฮาจิถือเป็นสัญลักษณ์ของชิบุยะเลยก็ว่าได้ครับ เป็นที่คุ้นเคยกันดีเพราะจุดนัดพบของคนญี่ปุ่นจำนวนมากซึ่งอยู่หน้าสถานีชิบุยะนั่นเอง เจ้าของที่เลี้ยงเจ้าหมาฮาจินี้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยโตเกียวชื่อ เอซาบุโร่ อุเอโนะ โดยเขาจะเดินทางไปกลับระหว่างบ้านซึ่งอยู่ที่ย่านชิบุยะนี้กับมหาวิทยาลัยทุกวัน และเจ้าหมาคู่ใจซึ่งก็คือเจ้าฮาจินี่เองครับ ที่คอยไปรับไปส่งเจ้าของที่สถานีชิบุยะเป็นประจำทุกวันไม่เคยขาด แต่เจ้าของกลับเสียชีวิตลงหลังจากที่รับเจ้าฮาจิมาเลี้ยงได้ 1 ปี

ถึงแม้อาจารย์จะเสียชีวิตไปแล้ว เจ้าฮาจิก็ยังไม่ลืมเจ้าของ และเฝ้ารอเจ้าของที่ไม่กลับมาเสียที่ อยู่ที่หน้าสถานีชิบุยะตลอดเป็นเวลานานเกือบ 10 ปีทีเดียว

เรื่องราวของเจ้าฮาจิถูกตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์และเป็นที่ฮือฮากันมากจนเป็นที่รู้จักไปทั่ว “รูปปั้นหมาฮาจิ” ที่สถานีชิบุยะนี้ ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 1934 จากเงินบริจาคของผู้คนมากมายที่ซาบซึ้งในเรื่องราวของเจ้าฮาจิ เมื่อเจ้าฮาจิตายลงในปีต่อมา กล่าวกันว่ามีช่อดอกไม้วางเรียงรายรอบรูปปั้นเต็มไปหมดเลยครับ 

■รายละเอียด / ชื่อ : รูปปั้นหมาฮาจิ

– ที่อยู่ : 2 Chome, Dogensaka, Shibuya-Ku, Tokyo

– การเดินทาง : เดินจากสถานี JR ชิบุยะ 5 นาที

ฮาราจูกุ

ถ้าพูดถึงย่านฮาราจูกุแล้วล่ะก็ ต้องนึกถึงถนน “ทาเคชิตะ-โดริ” ซึ่งมีของน่ารักๆ เก๋ไก๋ให้เลือกซื้อกันในราคาเบาๆ ได้ครับ ที่นี่โด่งดังว่าเป็นศูนย์กลางแฟชั่นของเหล่าวัยรุ่นไม่แพ้ย่านชิบุยะที่อยู่ใกล้ๆ เลยครับ ในวันหยุดผู้คนมากมายจะมาเที่ยวที่นี่กัน ทำให้ถนนตั้งแต่สถานีฮาราจูกุเรื่อยมาจนถึงถนนเมจิ-โดริแน่นขนัดจนแทบจะเดินไม่ได้เลยทีเดียว นอกจากนี้ในปัจจุบันเราจะได้เห็นเหล่านักเรียนที่มาทัศนศึกษาที่นี่กันแล้ว ยังมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวนมากอีกด้วย

ถนนทาเคชิตะ-โดริเป็นถนนคนเดินแคบๆ แต่มีร้านขายจุกจิกแฟชั่น ร้านเครื่องประดับ และร้านเสื้อผ้าต่างๆ รวมกันอยู่ในถนนแคบๆ นี้มากมาย และที่นี่ส่วนใหญ่แล้วจะคับคั่งไปด้วยเหล่าเด็กวัยรุ่นสาวๆ วัยทีนครับ นอกจากนี้ยังมีร้านขายสินค้าของนักร้องวงดัง ร้านแพนเค้ก และร้านของหวาน ซึ่งมักจะมีคิวยาวเยียดอยู่ตลอดเวลาทีเดียว

■รายละเอียด

– ชื่อ : ถนนทาเคชิตะ-โดริ ย่านฮาราจูกุ

– ที่อยู่ : 1-9-3 Mejijingu-Mae, Shibuya-Ku, Tokyo

– การเดินทาง : เดินจากสถานีฮาราจูกุ ประตูทางออกทาเคชิตะ 1 นาที

– เว็บไซต์ : URL: http://www.takeshita-street.com/index.html

ถนนโอโมเทะซันโด

หากเดินต่อมาจากถนนทาเคชิตะ-โดริ จะถึงถนนโอโมเทซันโดซึ่งเป็นย่านสำหรับผู้ใหญ่ที่ดูต่างออกไปโดยสิ้นเชิงครับ ที่นี่เป็นถนนซึ่งนับได้ว่าเป็นย่านที่ทันสมัยและเก๋ไก๋ไม่แพ้ย่านกินซ่าเลยทีเดียว บรรยากาศของที่นี่จะสงบคล้ายกับย่านที่อยู่อาศัยในยุโรป มีต้นเคยาคิ หรือต้น Zelkova Serrata

เรียงรายเต็มสองฝั่งถนน และตามทางก็จะมีอาคารที่มีดีไซด์ทันสมัยราวกับงานศิลปะ และร้านแกลอรี่มากมาย เป็นย่านที่สามารถเพลิดเพลินไปกับการช้อปปิ้งของแบรนด์เนม อาหารรสเลิศ และศิลปะได้ในที่เดียวกันครับ

นอกจากนี้ยังมีการประดับไฟบนต้นไม้สองข้างทางในช่วงฤดูหนาวที่เป็นเทศกาลคริสต์มาสอีกด้วย ทำให้ภาพบรรยากาศในช่วงกลางคืนสวยงามเหมือนฝันเลยครับ 

shibuya018

shibuya021

 

ศาลเจ้าเมจิ

ที่ “ศาลเจ้าเมจิ” แห่งนี้ เป็นที่บวงสรวงดวงวิญญาณของจักรพรรดิเมจิและสมเด็จพระราชินี ศาลเจ้าเมจิมีเนื้อที่กว้างขวางมาก ประมาณ 7 แสน ตร.ม. บรรยากาศภายในเขตศาลเจ้าจะเงียบสงบและเต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ ถึงแม้จะอยู่ใจกลางเมืองใหญ่แต่เมื่อเข้ามาที่นี่แล้วก็จะลืมความวุ่นวายของโลกภายนอกไปเลยครับ

ภายในอาณาเขตของศาลเจ้าจะเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่มากมาย สมกับที่เป็นศาลเจ้าคู่บ้านคู่เมืองจริงๆ บางคนอาจคิดว่าที่นี่เป็นป่าธรรมชาติ แต่อันที่จริงเป็นป่าปลูกซึ่งเริ่มปลูกมาตั้งแต่เมื่อ 100 ปีก่อนครับ ซึ่งแต่เดิมแล้วที่นี่เป็นพื้นที่รกร้าง และได้ทำการปลูกต้นโอ๊ก ต้นก่อเดือย และต้นการบูรขึ้นเพื่อทำให้เป็นป่าถาวรที่มีความใกล้เคียงกับป่าธรรมชาติที่สุด ปัจจุบันมีต้นไม้เจริญงอกงามที่นี่กว่า 170,000 ต้นครับ

นอกจากนี้ศาลเจ้าเมจิยังมีชื่อเสียงโด่งดังว่ามีผู้มาสักการะช่วงปีใหม่มากมายทุกปีอีกด้วย เมื่อปี 2014 ที่ผ่านมา มีผู้คนมาสักการะในช่วง 3 วันหลังวันปีใหม่ถึง 310,000 คนทีเดียวครับ

shibuya025

 

ชื่อ : ศาลเจ้าเมจิ

– ที่อยู่ : 1-1 Yoyogi Kamizono-Cho, Shibuya-Ku, Tokyo

– การเดินทาง : เดินจากสถานี JR ฮาราจูกุ 10 นาที

– เวลาทำการ :  9:00~16:00  (สำนักงาน)

– วันหยุด : ไม่มีวันหยุด

– เบอร์โทรศัพท์ : 03-3379-5511

– ค่าบริการ : ไม่มีค่าบริการ

– เว็บไซต์ URL:http://www.meijijingu.or.jp

การสักการะศาลเจ้าเมจิ

  1. ก่อนจะเดินเข้าไปในเขตศาลเจ้า ควรก้มศีรษะเพื่อน้อมเคารพต่อเทพเจ้าเล็กน้อยที่บริเวณหน้าสุ้มประตูศาลเจ้า หรือที่เรียกว่า “โทริอิ” เชื่อกันว่าสุ้มประตูโทริอิเป็นเส้นแบ่งระหว่างดินแดนศักดิ์สิทธิ์และโลกภายนอกครับ ในภาพด้านล่างนี้เป็นภาพของโทริอิที่สร้างจากไม้และมีขนาดใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นครับ

meiji_shrine001

จุดกึ่งกลางของทางเดินหรือซันโดที่ทอดยาวไปด้านหน้าของเทพเจ้า เรียกว่า “เซจู” ซึ่งเป็นทางเดินของเทพเจ้า เราจึงควรเดินเลี่ยงตรงส่วนกลางของทางเดินนะครับ เวลาไปสักการะเราจะเเริ่มเดินเข้าไปจากริมฝั่งซ้าย และหลังจากสักการะเรียบร้อยแล้วให้เดินออกจากริมฝั่งขวาของทางเดินหรือซันโด เพื่อให้เป็นการเปิดดวงให้เป็นไปตามวัฎจักรครับ

meiji_shrine002

*ซันโดคือทางเดินซึ่งจะนำเราเข้าไปสักการะศาลเจ้าหรือวัดวาอารามต่างๆ สำหรับที่ศาลเจ้าเมจิแห่งนี้ จะหมายถึงทางเดินตั้งแต่โทริอิไปจนถึงอุโบสถครับ

 

  1. ชำระล้างร่างกายที่ศาลาชำระล้าง (เรียกว่าโจสึยะ หรือเทมิสึยะ)

shibuya026วิธีการ

1) จับกระบวยด้วยมือขวา แล้วตักน้ำล้างมือซ้ายก่อน

2) เปลี่ยนใช้มือซ้ายจับกระบวย แล้วตักน้ำล้างมือขวา

3) กลับไปใช้มือขวาจับกระบวย แล้วใช้มือซ้ายวักน้ำจากกระบวยขึ้นมาบ้วนปาก

4) ถือกระบวนตั้งขึ้นเพื่อเทน้ำออก

5) นำกระบวยกลับไปวางไว้ที่เดิม

sensoji002*ห้ามใช้ปากบ้วนน้ำจากกระบวยโดยตรงนะครับ

 

 

 

 

ลำดับต่อไปคือการสักการะครับ

shibuya023เมื่อยืนอยู่หน้าหอสักการะควรเลี่ยงหลบบริเวณด้านหน้า และถอดหมวกกับแว่นกันแดดออกด้วยนะครับ

วิธีการสักการะบูชา

  1. โค้งคำนับเล็กน้อย ค่อยๆ นำเศษเหรียญเงินหยอดลงในกล่องใส่เหรียญบูชา หากมีกระดิ่งก็ให้สั่นกระดิ่งด้วย
  2. โค้งคำนับแบบต่ำ 2 ครั้ง (โน้มตัวจนลำตัวทำมุม 90 องศากับพื้น) (เรียกว่า “นิเร”)
  3. ประกบมือโดยให้มือขวาอยู่ต่ำกว่าเล็กน้อย แล้วปรบมือ 2 ครั้งที่บริเวณอก (เรียกว่า “นิฮาคุ”)
  4. โค้งคำนับแบบต่ำ อีก 1 ครั้ง (เรียกว่า “อิจิเร”)

นี่เป็นวิธีการสักการะบูชาที่กำหนดให้ทำกันตามศาลเจ้าครับ แต่ผมคิดว่าแม้คนญี่ปุ่นเอง ก็มีคนที่สามารถทำได้ถูกวิธีอยู่น้อยครับ ถึงเราจะลืมไปบ้าง หรือทำผิดวิธีไปบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะสิ่งที่สำคัญก็คือการสักการะด้วยใจ และความรู้สึกขอบคุณมากกว่าครับ

การเสี่ยงเซียมซี (โอมิคุจิ)

“ว้าว ! สำเร็จ ได้โชคดีมากล่ะ ! ปีนี้ต้องเป็นปีที่ดีแน่ๆ”

“อ่ะ แย่แล้ว ได้โชคร้ายมาก ! ทำยังไงดี??”

นี่แหละครับที่เรียกว่า โอมิคุจิ ผู้คนมากมายจะพากันไปเสี่ยงทายเซียมซีกันแบบนี้ล่ะครับ

เป็นเซียมซีเวอร์ชั่นญี่ปุ่นที่เหมือนกับเซียมซีที่เสี่ยงทายกันในวัดไทยเลยครับ

ในที่นี้ผมจะอธิบายเกี่ยวกับโอมิคุจิแบบคร่าวๆ ก็แล้วกันนะครับ

โอมิคุจิ เป็นข้อความจากพระเจ้าถึงผู้ที่มาสักการะบูชา ถูกนำมาใช้ทำนายโชคดีโชคร้ายหรือดวงของแต่ละคน

โอมิตุจิจะมีคำทำนายเรื่องโชคดีโชคร้ายในระดับต่างๆ คือ โชคดีมาก (ไดคิจิ) / โชคค่อนข้างดี (จูคิจิ) / โชคดีพอใช้ (โชคิจิ) / มีโชคแค่เล็กน้อย (สุเอะคิจิ) / โชคร้าย (เคียว) และยังมีคำทำนายเรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิตทั้งหมดเขียนเอาไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินทอง, ความรัก, ข้าวของสูญหาย, การเดินทาง, คนที่รอคอย และเรื่องสุขภาพ เป็นต้น แล้วยังมีเซียมซีแบบที่มีบทกลอนชี้แนะเรื่องการใช้ชีวิตเขียนเอาไว้อีกด้วย
เวลาเสี่ยงทายแล้วได้ไดคิจิ ทุกคนก็มักจะดีใจกันใช่ไหมครับ แต่อันที่จริงแล้วจุดประสงค์ของโอมิคุจิไม่ใช่การเสี่ยงทายว่าโชคดีหรือโชคร้ายหรอกนะครับ แต่สิ่งที่สำคัญคือการจดจำและนำเนื้อหาของคำทำนายนั้นไปเป็นคำบอกใบ้และเป็นแนวทางการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคตมากกว่า

นอกจากนี้ ยังมีธรรมเนียมการผูกเซียมซีไว้ที่กิ่งไม้ในศาลเจ้าก่อนกลับด้วย แต่จะนำติดตัวกลับบ้านไปด้วยก็ไม่เป็นไรนะครับ ถึงแม้จะเสี่ยงทายได้โชคร้ายมาก (หรือที่เรียกว่าไดเคียว) ก็ตาม แต่ถ้าเราไม่ประมาทและทำอะไรอย่างระมัดระวังมากกว่าที่ผ่านมา กลับจะทำให้เราโชคดีขึ้นเสียด้วยซ้ำ ควรอ่านคำทำนายในโอมิคุจิซ้ำหลายๆ ครั้ง และลองนำมาปรับใช้กับสิ่งที่ตัวเราเองกระทำในทุกวันๆ ครับ

ควรเสี่ยงทายโอมิคุจิหลังจากสักการะแล้ว และให้นึกถึงสิ่งที่เราขอพรเอาไว้ในหัวระหว่างที่ทำการเสี่ยงทายด้วยนะครับ

ควรเสี่ยงทายโอมิคุจิหลังจากสักการะแล้ว และให้นึกถึงสิ่งที่เราขอพรเอาไว้ในหัวระหว่างที่ทำการเสี่ยงทายด้วยนะครับ

ถ้าหากไม่สบายใจจริงๆ ก็ให้นำใบเซียมซีไปผูกเอาไว้ที่กิ่งไม้ในศาลเจ้าก็ได้ครับ

กล่าวกันว่าธรรมเนียมการผูกเซียมซีเอาไว้ที่กิ่งไม้ มาจากความเชื่อที่ว่า พลังชีวิตจากต้นไม้จะช่วยให้สิ่งที่เราขอพรเอาไว้เป็นจริงขึ้นมา

และว่ากันว่าเวลานำเซียมซีที่มีคำทำนายโชคร้าย (เคียว) ไปผูกที่กิ่งไม้ ให้ใช้มือข้างที่ไม่ถนัดข้างเดียวผูกเท่านั้นถึงจะดีนะครับ ซึ่งการใช้มือข้างเดียวผูกใบเซียมซีสื่อถึงการทำสิ่งที่ยากลำบากได้สำเร็จ ความโชคร้ายก็จะเปลี่ยนกลายเป็นความโชคดีครับ

omikuji005

ต้องจ่ายเงินก่อนนะครับ ราคาประมาณ 100 หรือ 200 เยน

จะมีกล่องไม้หรือกล่องโลหะอยู่ เหมือนในภาพด้านบนนี้ ให้เขย่ากล่องนั้นล่ะครับ

ก้านเซียมซีจะออกมาจากรูเล็กๆ ซึ่งที่ก้านจะมีเบอร์เขียนเอาไว้ จากนั้นนำใบคำทำนายโอมิคุจิออกมาจากลิ้นชักตามเบอร์ที่ได้นั้นครับ

omikuji003

 

สวนโยโยงิ

สวนโยโยงิเป็นสวนสาธารณะที่มีเนื้อที่กว้างเป็นอันดับ 4 ในบรรดาสวนสาธารณะทั้งหมดที่อยู่ในพื้นที่ 23 เขตหลักของโตเกียว

ประกอบด้วยแอเรีย A ซึ่งเป็นเขตสวนสาธารณะ กับแอเรีย B ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของถนน เป็นส่วนที่มีเวทีกลางแจ้งและสนามแข่งกรีฑา

สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 พื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นสนามซ้อมรบของกองทหารมาก่อน แต่หลังสงครามสงบ เมื่อครั้งงานกีฬาโอลิมปิคปี 1964 ได้ถูกสร้างเป็นหมู่บ้านนักกีฬา ปัจจุบันภายในเขตสวนสาธารณะก็ยังมีบ้านพักของนักกีฬาเนเธอร์แลนด์หลงเหลือให้ได้ดูกันอยู่ 1 หลัง โดยยังคงสภาพเหมือนเดิมทุกประการ ภายในสวนมีเส้นทางขี่จักรยานและลานน้ำพุกว้างโอ่อ่า เป็นสวนซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นไม้และน้ำที่ผู้คนคุ้นเคยกันดีครับ 

■รายละเอียด

– ชื่อ : สวนโยโยงิ

– ที่อยู่: 2 Chome Jinnan, Yoyogi Kamizono-Cho, Shibuya-Ku, Tokyo

– การเดินทาง : เดินจากสถานี JR ฮาราจูกุ 3 นาที

– เวลาทำการ : เปิดตลอด 24 ชม.

– วันหยุด : ไม่มีวันหยุด

– เบอร์โทรศัพท์ : 03-3469-6081 (ศูนย์บริการสวนโยโยงิ)

– ค่าบริการ : ไม่มีค่าบริการ

– เว็บไซต์ URL: http://www.tokyo-park.or.jp/park/format/index039.html

สวนโยโยงิ (สนามกรีฑาแห่งชาติ/ เวทีกลางแจ้ง)

แอเรีย B ที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของถนน ซึ่งมีสนามกรีฑาแห่งชาติโยโยงิและเวทีกลางแจ้ง เป็นที่จัดงานอีเว้นท์ต่างๆ มากมายตลอดทั้งปี หนึ่งในอีเว้นท์สำคัญที่จะจัดช่วงกลางเดือนพ.ค. ของทุกปี คือ “งาน Thai Festival” ครับ โดยในปี 2015 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16-17 พ.ค. เป็นเวลา 2 วัน

thai festival00001

สำหรับการแสดงบนเวที ก็มีโปรแกรมการแสดงมากมาย ทั้งการรำไทย ดนตรีไทย มวยไทย และคอนเสิร์ตของเหล่าศิลปินต่างๆ นอกจากนี้ยังมีบู๊ทขายอาหารไทยมาออกร้านกันอย่างคับคั่ง และมีผู้มาเที่ยวงานถึงกว่า 3 แสนคนเลยทีเดียว สามารถดูบรรยากาศงาน Thai Festival ได้ที่นี่

 

Yebisu Garden Place

แผนที่ย่านชิบุยะ และฮาราจูกุ