การซื้อตั๋วรถไฟฟ้า

วิธีการซื้อตั๋วเวลาจะขึ้นรถไฟฟ้ามี 3 วิธีดังนี้

1) ซื้อจากเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับทางเข้าช่องตรวจตั๋ว

2) ซื้อที่สำนักงานจำหน่ายตั๋ว JR “มิโดริ โนะ มาโดะกุจิ” หรือ “วิวพลาซ่า”

3) ซื้อเป็นบัตร Suica หรือบัตร Pasmo

นอกจากภาษาญี่ปุ่นแล้ว เครื่องขายตั๋วอัตโนมัติยังมีภาษาอังกฤษเป็นภาษาพื้นฐานไว้คอยรองรับการใช้งานของชาวต่างชาติด้วย นอกจากนี้เครื่องที่รองรับภาษาอื่นๆ เช่น ภาษาจีน และภาษาเกาหลี เป็นต้น ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่น่าเสียดายที่ยังไม่มีเครื่องที่รองรับภาษาไทยได้ สำหรับวิธีการใช้เครื่องผมได้อธิบายไว้ในเนื้อหาวิธีการซื้อครับ

train009

โครงข่ายสายรถไฟฟ้าในโตเกียวมีซับซ้อนมากครับ หากนั่งรถไฟฟ้าจนเคยชินแล้วก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าไม่คุ้นหากต้องดูราคาในตารางบอกราคาอาจจะเสียเวลามากครับ กรณีนี้ควรตรวจสอบแผนผังทางเดินรถไฟ โดยสังเกตจากจุดที่ตัวเราอยู่ ณ. ตอนนี้ ซึ่งจะเขียนว่า当駅 (You are here) ไว้ด้วยอักษรสีแดงครับ จากนั้นตรวจสอบว่าเราต้องนั่งรถสายใดและไปต่อรถที่สถานีใด

นอกจากนี้ กรณีที่หาสถานที่ที่เราจะไปไม่เจอในแผนผังเส้นทางเดินรถ ควรสอบถามและซื้อตั๋วกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานจำหน่ายตั๋ว JR “มิโดริ โนะ มาโดะกุจิ” หรือ “วิวพลาซ่า” โดยตรงจะเร็วกว่าครับ เคาท์เตอร์ของสำนักงานจำหน่ายตั๋วเหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วเรามักจะมาใช้บริการในกรณีที่ต้องการซื้อตั๋วที่มีราคาสูง เช่น ตั๋วที่ระบุที่นั่ง หรือตั๋วรถด่วนต่างๆ แต่นอกจากตั๋วของ JR แล้ว ยังมีบริการขายตั๋วอื่นๆ เช่น ตั๋วเครื่องบินภายในประเทศ, ตั๋วเรือ, ตั๋วรถบัสระหว่างจังหวัด, และบัตรผ่านประตูของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ อย่างหอศิลป์ เป็นต้น และยังสามารถชำระเงินผ่านบัตรเครดิตได้ด้วย สะดวกมากครับ

โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าวิธีที่ 3) ซื้อเป็นบัตร Suica หรือบัตร Pasmo เป็นวิธีที่ง่ายและอยากแนะนำมากที่สุดครับ

กรณีซื้อที่เราใช้บัตร Suica / Pasmo ค่าโดยสารทั้งหมดจะถูกคำนวณจากสถานีที่เราลงรถไฟโดยอัตโนมัติ จึงไม่จำเป็นต้องตรวจสอบราคาค่าโดยสารทุกครั้งที่จะขึ้นรถไฟฟ้าเลย บัตรทั้ง 2 นี้สามารถหาซื้อได้จากเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติและสำนักงานจำหน่ายตั๋ว JR “มิโดริ โนะ มาโดะกุจิ” ครับ

suica001ลำดับแรกต้องเลือกจำนวนเงินที่เราต้องการจะซื้อครับ ซึ่งสามารถเลือกได้ 6 แบบ คือ 1,000 เยน/ 2,000 เยน/ 3,000 เยน/ 4,000 เยน/ 5,000 เยน และ 10,000 เยน

โดยหลักแล้วจะเหมือนกับบัตรโดยสารรถ BTS คือเป็นบัตรพลาสติกแข็ง สามารถใช้ขึ้นรถไฟฟ้าและรถเมล์ทั้งหมดในโตเกียวได้, ใช้ขึ้นรถแท็กซี่ได้สำหรับบางบริษัท, ใช้กับเครื่องขายน้ำอัตโนมัติ, และสามารถใช้ซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อได้ บัตรนี้สะดวกมากครับ หมดปัญหาเรื่องเศษเหรียญในกระเป๋าเยอะเกินไป หรือปัญหาซื้อตั๋วผิดทำให้ค่าโดยสารไม่พอไปได้เลย ลองใช้กันดูนะครับ (รายละเอียดเกี่ยวกับบัตร Suica / Pasmo จะกล่าวถึงในภายหลัง)

วิธีใช้เครื่องขายตั๋วอัตโนมัติ

Suica160826

(1) ตรวจสอบราคาค่าโดยสารจากจุดที่เราอยู่ไปถึงสถานที่ที่เราจะไปจากตารางค่าโดยสารหรือแผนผังเส้นทางเดินรถที่ติดอยู่บนผนังเหนือเครื่องขายตั๋ว

(2) เครื่องขายตั๋วอัตโนมัติจะเป็นหน้าจอแบบสัมผัส หลังจากที่ใส่เงินค่าโดยสารเข้าไปตามราคาค่าโดยสารที่กำหนดแล้ว กดปุ่มที่ตรงกับราคาค่าโดยสารของเราบนหน้าจอ หรืออาจจะกดปุ่มราคาค่าโดยสารก่อนแล้วจึงใส่เงินตามเข้าไปทีหลังก็ได้ครับ

(3) เมื่อซื้อเรียบร้อยก็เข้าไปที่ทางเข้าช่องตรวจตั๋วได้เลย อย่าลืมรับบัตรและเงินทอนจากเครื่องด้วยนะครับ

เครื่องตรวจตั๋วอัตโนมัติ

train019

เครื่องตรวจตั๋วของญี่ปุ่นเป็นระบบไม้กั้นจากด้านหน้า ไม้กั้นจะอยู่ที่หน้าเครื่อง ดังนั้นถึงแม้จะถูกเครื่องกั้นไม่ให้ผ่านก็ไม่มีปัญหาเรื่องการชนกับคนอื่นจนเจ็บตัวครับ

เครื่องตรวจตั๋วอัตโนมัติ 

(1) วิธีการเหมือนกับเวลานั่งรถ BTS เลยครับ คือสอดตั๋วที่เราซื้อมาแล้วเข้าไปในเครื่องตรวจตั๋ว หลังจากที่เราผ่านเครื่องตรวจมาแล้ว ตั๋วของเราจะถูกส่งกลับออกมาจากช่องที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของเครื่องตรวจนะครับ อย่าลืมเก็บตั๋วของเราเอาไว้ด้วย

(2) เมื่อถึงสถานีที่เราต้องการ และออกมากจากสถานี เครื่องตรวจตั๋วจะเก็บตั๋วของเราไปเลยครับ

แต่หากเรานั่งรถมาไกลเกินกว่าราคาของตั๋วที่เราซื้อเอาไว้ เมื่อเราสอดบัตรเข้าเครื่องตรวจจะมีเสียงร้องเตือนและประตูเครื่องตรวจจะไม่เปิดให้เราออกไปครับ

กรณีนี้ให้รับตั๋วที่ถูกส่งกลับออกมา แล้วไปจ่ายเงินค่าโดยสารส่วนที่ไม่พอซึ่งเรานั่งรถเกินมา พอจ่ายแล้วจะมีตั๋วอีกใบหนึ่งออกมาให้เราเพื่อแสดงว่าเราได้จ่ายส่วนต่างที่ไม่พอเรียบร้อยแล้ว จากนั้นใช้ตั๋วใบใหม่นี้สอดเครื่องตรวจก็จะสามารถออกมาจากสถานีได้ครับ

หากไม่ทราบวิธีการจ่ายเงินส่วนต่าง สามารถสอบถามที่เคาท์เตอร์ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับเครื่องตรวจตั๋ว สามารถจ่ายเงินส่วนต่างกับเจ้าหน้าที่สถานีและผ่านออกมาได้ครับ

กรณีที่ใช้บัตร Suica / Pasmo จะมีแป้นอ่านบัตรบนเครื่องตรวจตั๋ว เราสามารถประทับบัตรบนแป้นและผ่านออกมาได้เลยครับ

ข้อมูลเกี่ยวกับบัตร Suica / Pasmo

บัตร Suica (ซุยกะ) และ Pasmo (พาสโม้) เป็นบัตรเติมเงินที่สามารถใช้แทนตั๋วโดยสารและเงินสดได้ครับ มีบัตรนี้เพียงใบเดียวนอกจากจะสามารถใช้เป็นตั๋วโดยสารรถไฟและรถเมล์ได้แล้ว ยังสามารถใช้จ่ายค่าโดยสารรถแท็กซี่, ใช้ตู้ล็อคเกอร์หยอดเหรียญ, ใช้เครื่องขายของอัตโนมัติ, ใช้ซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อและร้านที่เข้าร่วมกับบัตรเติมเงินนี้ได้

ปกติแล้วบัตร Suica / Pasmo จะสามารถซื้อได้ที่เครื่องขายตั๋วอัตโนมัติตามสถานีรถไฟฟ้าหรือเคาท์เตอร์ของสำนักงานจำหน่ายตั๋ว JR “มิโดริ โนะ มาโดะกุจิ” แต่ที่สนามบินนาริตะและสนามบินฮาเนดะก็สามารถหาซื้อได้เช่นกัน ดังนั้นหาซื้อเตรียมเอาไว้ตอนที่มาถึงญี่ปุ่นเลยก็ดีเหมือนกันนะครับ นอกจากนี้หากบัตรเกิดชำรุดเสียหายก็สามารถขอทำบัตรใหม่ได้ด้วยครับ

สามารถเลือกซื้อบัตรได้ในราคา 1,000 / 2,000 / 3,000 / 4,000 / 5,000 / และ 10,000 เยน ครับ ในราคาที่เราซื้อเริ่มแรกนี้จะรวมค่ามัดจำ 500 เยนแล้ว ซึ่งเมื่อเราทำการคืนบัตรก็จะได้เงินมัดจำส่วนนี้คืนมาพร้อมกับเงินที่เหลืออยู่ในบัตรครับ (กรณีของบัตร Suica จะมีค่าธรรมเนียมคิดแยกต่างหากอีก 220 เยน)

นอกจากนี้บัตรทั้ง 2 นอกจากจะสามารถใช้ได้ทั่วโตเกียวแล้ว ยังสามารถนำไปในพื้นที่หลักๆ ทั่วทั้งญี่ปุ่นได้อีกด้วย

ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ที่สามารถใช้บัตร Suica คลิกที่นี่  (ภาษาอังกฤษ)

ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ที่สามารถใช้บัตร Pasmo คลิกที่นี่  (ภาษาอังกฤษ)

【 วิธีซื้อจากเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติ 

ไปที่เครื่องขายตั๋วอัตโนมัติที่มีสัญลักษณ์ Suica / Pasmo แล้วกดปุ่ม “English” ที่หน้าจอเพื่อเปลี่ยนให้เป็นหน้าจอภาษาอังกฤษ เมื่อกดปุ่มตามคำอธิบายบนหน้าจอก็จะสามารถซื้อบัตรได้ครับ ซึ่งจะมีตัวเลือกมาขึ้นมา ให้เราเลือกระหว่าง Personalized (ระบุชื่อ) กับ Blank (ไม่ระบุชื่อ) ครับ กรณีที่ไปท่องเที่ยวเป็นระยะเวลาสั้นๆ เลือก Blank น่าจะง่ายกว่าเพราะจะต้องคืนบัตรอยู่แล้ว และสามารถให้คนอื่นใช้บัตรนี้ได้ด้วย หากเลือก Personalized จะสามารถขอให้ออกบัตรใหม่ให้ได้กรณีที่ทำบัตรหาย แต่จะเป็นต้องระบุข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ทั้งชื่อ, เพศ, วันเดือนปีเกิด, และเบอร์โทรศัพท์ เป็นต้น

วิธีการซื้อบัตร Pasmo  คลิกที่นี่  (ภาษาอังกฤษ)

วิธีใช้  (Suica)】

วิธีใช้เหมือนกับบัตร BTS ครับ ซึ่งมีวิธีการดังนี้ (ข้อมูลจากเว็บไซต์ JR East Japan : http://www.jreast.co.jp/suica/use/gate/through01.html)

T_machine160826

(1) เบอร์ 1 และ 2 ตามภาพด้านซ้ายมือคือแป้นอ่านบัตรครับ นำบัตร Suica ประทับที่ 1 และ 2  จากนั้นก็ผ่านเข้าไปได้เลย ภาพเครื่องตรวจตั๋วทางขวามือเป็นเครื่องสำหรับบัตร Suica (Pasmo) โดยเฉพาะครับ

*จะมีช่องใส่ตั๋วอยู่ที่ด้านล่าง ระวังอย่าเผลอใส่บัตรเข้าไปในช่องนี้จะครับ !

train014

(2) เมื่อใช้บัตร Suica ประทับที่แป้นอ่าน โดยปกติจะมีเสียง “ปิ๊บ” ดังขึ้นมาสั้นๆ ครับ แต่เสียงดัง “ปีบ” ยาวๆ แสดงว่าเงินในบัตร Suica ไม่พอ จำเป็นต้องเติมเงินเข้าไปในบัตรก่อนนะครับ ส่วนเบอร์ 3 ในภาพจะเป็นหน้าจอแสดงเงินคงเหลือในบัตรครับ  

ใส่บัตร Suica เอาไว้ในกระเป๋าสตางค์ได้นะครับ นำกระเป๋าสตางค์ทั้งใบประทับที่แป้นอ่านเครื่องตรวจก็สามารถอ่านบัตรได้ครับไม่มีปัญหา  

 

การเติมเงินบัตร Suica

train017

หากมีเสียงดัง “ปีบ” ยาวๆ จากเครื่องตรวจตั๋วเวลาผ่านเข้า-ออกจากสถานี กรุณาไปที่เครื่องขายตั๋วตามภาพด้านซ้ายมือที่อยู่ใกล้ๆ แล้วทำตามวิธีการดังนี้

1) สอดบัตร Suica เข้าไปในเครื่องขายตั๋ว โดยให้ด้านหน้าบัตรอยู่ด้านบนและให้สัญลักษณ์ลูกศรบนบัตรชี้ไปทางช่องที่จะสอดบัตร

2) จากนั้นเลือกจำนวนเงินที่เราต้องการจะเติมเข้าไปในบัตรตามที่มีแสดงขึ้นมาบนหน้าจอ (สามารถเลือกจาก 500 / 1,000 / 2,000 / 3,000 / 5,000 / 10,000 เยน)

3) เลือกวิธีการจ่ายเงินเป็นเงินสด “Cash” แล้วใส่ธนบัตรเข้าไป

กรณีที่มีเสียงเครื่องตรวจดังขึ้นเวลาออกจากสถานี ให้ไปที่เครื่องจ่ายเงินส่วนต่างที่อยู่ใกล้ๆ กับเครื่องตรวจตั๋ว แล้วทำตามวิธีการข้างบนนี้ก็สามารถเติมเงินได้ครับ

วิธีการเติมเงินบัตร Pasmo คลิกที่นี่  (ภาษาอังกฤษ)

เว็บไซต์บัตร Suica คลิกที่นี่  (ภาษาอังกฤษ)

เว็บไซต์บัตร Pasmo คลิกที่นี่  (ภาษาอังกฤษ)

กรณีจะเดินทางจากโตเกียวไปเมืองอื่นๆ

ข้อมูลเกี่ยวกับตั๋วประเภทต่างๆ

ตั๋วรถไฟมีหลายประเภท นอกจากตั๋วโดยสารธรรมดาแล้ว ยังมีตั๋วสำหรับนั่งรถด่วน และตั๋วสำหรับรถนอน เป็นต้น

หากเดินทางอยู่ภายในเขตโตเกียว นอกจากรถด่วนนาริตะเอ็กซ์เพลสและสกายไลน์เนอร์แล้ว เราก็คงไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้ตั๋วรถด่วนหรือรถนอนของ JR, รถไฟ, หรือรถไฟใต้ดินเท่าไรนัก ในที่นี้ผมจะอธิบายถึงกรณีที่จะเดินทางจากโตเกียวไปยังเมืองอื่นๆ เช่น โอซาก้า และเกียวโต เป็นต้น

ตั๋วรถด่วน

ตั๋วรถด่วน เป็นตั๋วที่ใช้สำหรับนั่งรถไฟด่วนพิเศษ เช่น รถไฟชินคันเซ็น เป็นต้น และนอกจากตั๋วโดยสารแล้วจำเป็นต้องซื้อตั๋วรถด่วนแยกต่างหากด้วย

ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นกรณีของรถไฟชินคันเซ็น ก็จะมีที่นั่ง 3 ประเภท คือ ที่นั่งอิสระ ที่นั่งแบบจอง และที่นั่ง First Class สำหรับตู้พิเศษหรือที่เรียกว่า กรีนคาร์โดยถ้าเรานั่งที่นั่งอิสระจะใช้ตั๋วโดยสารและตั๋วรถด่วน ส่วนที่นั่งแบบจองนอกจากตั๋วโดยสารและตั๋วรถด่วนแล้ว เราต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการจองที่นั่งเพิ่มเข้ามาด้วย

ช่วงเทศกาลต่างๆ เช่นโกลเด้นวีค (ตั้งแต่สิ้นเดือนเม.ย. ถึงต้นเดือนพ.ค.), วันหยุดฤดูร้อนเทศกาลโอบง (กลางเดือนส.ค.), ช่วงสิ้นปี-ปีใหม่ (ตั้งแต่สิ้นเดือนธ.ค. ถึงต้นเดือนม.ค.) เป็นต้น ที่นั่งอิสระจะแน่นมาก บางครั้งแน่นเสียจนไม่มีที่นั่งเลยทีเดียว ผมแนะนำว่าควรจองที่นั่งเอาไว้ล่วงหน้าจะดีกว่าครับ (วิธีการจองที่นั่งจะกล่าวถึงในภายหลัง)

ตั๋วสำหรับตู้พิเศษ (ตั๋วกรีน/ ตั๋ว First Class)

shinkansen004

ในรถไฟบางขบวนจะมีตู้พิเศษอยู่ประมาณ 2 ตู้ ซึ่งเบาะที่นั่งจะกว้างขวางนั่งสบาย เป็นที่นั่ง First Class โดยที่ญี่ปุ่นจะเรียกว่าที่นั่งกรีน เป็นที่นั่งชั้นพิเศษคล้ายกับที่นั่งชั้นธุรกิจและชั้น First Class บนเครื่องบินเลยทีเดียว

ที่นั่ง First Class นี้จะเป็นที่นั่งแบบจองทั้งหมด จึงจำเป็นต้องซื้อตั๋วโดยสารและตั๋วสำหรับตู้พิเศษ (ตั๋วกรีน / ตั๋ว First Class) เตรียมเอาไว้ล่วงหน้า สามารถซื้อตั๋วกรีนได้ที่สำนักงานจำหน่ายตั๋ว JR “มิโดริ โนะ มาโดกุจิ” เป็นต้น

 ค่าโดยสารสำหรับเด็ก

สำหรับผู้โดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 11 ปี สามารถโดยสารรถไฟโดยซื้อตั๋วโดยสาร, ตั๋วรถด่วน และตั๋วที่นั่งแบบจองในราคาค่าโดยสารสำหรับเด็ก ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของราคาค่าโดยสารสำหรับผู้ใหญ่ แต่หากเป็นที่นั่ง First Class จะคิดราคาเท่ากับกับราคาค่าโดยสารสำหรับผู้ใหญ่

นอกจากนี้ เด็กเล็กที่มีอายุตั้งแต่ 1-5 ปี ตามกฎทั่วไปแล้วมีสิทธิ์เทียบเท่าเด็กทารกที่มีอายุไม่ถึง 1 ปี คือสามารถโดยสารได้ฟรี แต่หากเด็กตรงข้ามเงื่อนไขข้อจำกัดดังต่อไป จำเป็นต้องจ่ายค่าโดยสารในราคาสำหรับเด็ก

  1. หากเด็กเล็กที่เดินทางพร้อมกับผู้ใหญ่หรือเด็กมีจำนวนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป (ต้องซื้อตั๋วในราคาค่าโดยสารสำหรับเด็กให้กับเด็กเล็กตั้งแต่คนที่ 3 เป็นต้นไป)
  2. หากเดินทางพร้อมเด็กเล็กหรือเด็กทารก 1 คน และซื้อตั๋วแบบจองที่นั่ง, ตั๋วที่นั่ง First Class หรือใช้บริการเตียงนอน แต่ในกรณีที่พ่อแม่อุ้มเด็กให้นั่งบนตักก็อนุโลมให้ไม่ต้องจ่ายค่าโดยสารสำหรับเด็กได้

การจอง

วิธีการจอง

train021

เราไม่จำเป็นต้องจองตั๋วโดยสารสำหรับที่นั่งอิสระ ดังนั้นในที่นี้ผมจะอธิบายเกี่ยวกับการจองตั๋วสำหรับที่นั่งแบบจองเท่านั้นนะครับ

การจองตั๋ว เราสามารถจองตั๋วได้ก่อนล่วงหน้า 1 เดือน โดยกรอกแบบฟอร์มที่มีเตรียมไว้คอยบริการที่สำนักงานจำหน่ายตั๋ว JR “มิโดริ โนะ มาโดะกุจิ” หรือ “วิวพลาซ่า” ซึ่งต้องระบุข้อมูลที่จำเป็นต่างๆ เช่น วันที่จะโดยสาร, ชื่อรถไฟที่ต้องการจะโดยสาร และจุดหมายปลายทาง เป็นต้น จากนั้นนำไปยื่นที่เคาท์เตอร์เท่านี้ก็เรียบร้อยครับ

สิ่งที่ต้องระวังคือเรื่องการแคนเซิลครับ เพราะเราจะไม่สามารถขอรับเงินค่าตั๋วคืนหลังจากที่รถไฟออกเดินทางไปแล้วได้ กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงวันที่จะโดยสารรถไฟ จึงควรแจ้งกับทางสำนักงานจำหน่ายตั๋ว JR “มิโดริ โนะ มาโดะกุจิ” เพื่อขอให้ทำเรื่องขอคืนเงินให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้จะดีกว่าครับ

Japan Rail Pass

บัตร JR Pass คือบัตรที่กลุ่มบริษัท JR ทั้ง 6 บริษัท (JR Hokkaido/ JR East Japan/ JR Tokai/ JR West Japan/ JR Shigoku/ JR Kyushu) ร่วมกันทำขึ้น เพื่อเป็นบัตรสำหรับใช้บริการรถไฟเพื่อท่องเที่ยวได้ทั่วประเทศญี่ปุ่นในราคาสุดประหยัด และแน่นอนว่าสามารถใช้บริการรถไฟชินคันเซนได้อีกด้วยนะครับ (ยกเว้นรถด่วน “โนโซมิ” และ”มิสุโฮะ”) อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

เงื่อนไขการใช้บัตร

การจะใช้บัตรนี้ต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ครับ

(1) ต้องเป็นนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่ถือวีซ่า “พำนักระยะสั้น” และมาญี่ปุ่นด้วยจุดประสงค์เพื่อการท่องเที่ยว

train020

วีซ่าประเภท “พำนักระยะสั้น” ซึ่งกำหนดโดยกฎหมายการเข้าประเทศของญี่ปุ่นระบุว่า ต้องมีจุดประสงค์มาเพื่อการท่องเที่ยวหรืออื่นๆ ซึ่งอนุญาติให้พำนักอยู่ในญี่ปุ่นได้เป็นเวลา 15 วัน หรือ 90 วัน เวลาเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นหากเราแจ้งความประสงค์ว่าเป็นการพำนักเพื่อการท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจะประทับตรา/หรือติดสติ้กเกอร์ว่า “พำนักระยะสั้น” ที่พาสปอร์ตของคุณเหมือนกับในรูปทางซ้ายมือนี้ครับ เฉพาะผู้ที่มีพาสปอร์ตซึ่งมีตราประทับ/สติ้กเกอร์นี้เท่านั้นที่สามารถซื้อและใช้บัตร JR Pass ได้

※เวลาที่เข้าประเทศญี่ปุ่น หากผ่านเข้ามาทางประตูอัตโนมัติจะไม่ได้รับตราประทับ/สติ้กเกอร์ที่พาสปอร์ตนะครับ จึงต้องผ่านเข้าประตูที่มีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการเท่านั้นเพื่อขอรับตราประทับ/สติ้กเกอร์ครับ

บัตร JR Pass เป็นบัตรที่ออกมาสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นมาเพื่อท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ชาวญี่ปุ่นที่แต่งงานกับคนไทยก็สามารถยื่นเรื่องขอซื้อบัตรนี้ได้เช่นกันครับ ในกรณีนี้นอกจากพาสปอร์ตแล้วจำเป็นต้องยื่นเอกสารต่างๆ ตามข้อต่อไปนี้ให้กับทางสำนักงานจำหน่ายตั๋วของ JR ด้วยนะครับ

(2)ผู้ที่ถือสัญชาติญี่ปุ่นแต่อาศัยอยู่ต่างประเทศ และมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดดังนี้

a.กรณีที่มีวีซ่าพำนักแบบถาวรที่ประเทศนั้นๆ

b.กรณีที่แต่งงานกับชาวต่างชาติซึ่งอาศัยอยู่นอกประเทศญี่ปุ่น

นอกจากพาสปอร์ตญี่ปุ่นแล้วยังต้องยื่นเอกสารต่างๆ ดังนี้

กรณีของ a. ต้องยื่นหลักฐานเพิ่ม 2 อย่างคือ

– วีซ่าพำนักแบบถาวร*

– เอกสารยืนยันได้ว่าบุคคลนั้นอาศัยอยู่นอกประเทศญี่ปุ่นจริง

กรณีของ b. จำเป็นต้องยื่นเอกสารเพิ่ม 3 อย่างดังนี้

– เอกสารยืนยันได้ว่าบุคคลนั้นอาศัยอยู่นอกประเทศญี่ปุ่นจริง

– เอกสารยืนยันการแต่งงานกับชาวต่างชาติ

– เอกสารยืนยันว่าคู่สมรส (ชาวต่างชาติ) อาศัยอยู่นอกประเทศญี่ปุ่น

ประเภทของบัตร JR Pass และค่าธรรมเนียม

บัตร JR Pass จะมีให้เลือก 2 ประเภทคือ ประเภทสำหรับโดยสารที่นั่งตู้พิเศษ (ตั๋วกรีน) และประเภทสำหรับโดยสารที่นั่งธรรมดา นอกจากนี้ยังแบ่งออกเป็นบัตรสำหรับ 7 วัน/ 14 วัน / 21 วัน อีกด้วย ค่าธรรมเนียมของบัตรอายุ 7 วันประเภทโดยสารที่นั่งตู้พิเศษ (ตั๋วกรีน) สำหรับผู้ใหญ่ราคา 38,880 เยน / สำหรับเด็ก (อายุตั้งแต่ 6-11 ปี) ราคา 19,440 เยน ประเภทโดยสารที่นั่งธรรมดาสำหรับผู้ใหญ่ราคา 29,110 เยน/ สำหรับเด็กราคา 14,550 เยน (ราคา ณ. เดือนก.พ. ปี 2015)

วิธีการซื้อ

เราไม่สามารถซื้อบัตร JR Pass ได้ในประเทศญี่ปุ่นครับ ต้องซื้อตั๋วสำหรับแลกบัตรที่สำนักงานตัวแทนต่างๆ ก่อนเดินทางไปญี่ปุ่นครับ

ในเว็บไซต์ข้างล่างนี้จะมีรวมรายชื่อบริษัททัวร์ซึ่งเราสามารถติดต่อซื้อตั๋วแลกบัตรได้ครับ และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง กรุณาสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหลักฐานเอกสารที่ตนต้องนำไปยื่นให้เข้าใจก่อนซื้อด้วยนะครับ   

http://www.japanrailpass.net/area_02.html (ภาษาอังกฤษ)

หลังจากเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นไปแล้ว ก็นำตั๋วแลกบัตรนี้ไปแลกเป็นบัตร JR Pass ครับ ซึ่งสามารถนำไปแลกได้ที่สำนักงานแลกบัตรซึ่งจะอยู่ตามสถานีหลักๆ ของ JR ครับ

อย่างกรณีของที่โตเกียวสามารถแลกบัตรได้ที่สำนักงาน JR East Travel Service Center ภายในสนามบินนาริตะ (เทอร์มินอล 1/ เทอร์มินอล 2 / เทอร์มินอล 3), สถานี Haneda Airport International Terminal Station หรือตามสถานีที่เป็นศูนย์กลางต่างๆ เช่น สถานี JR Tokyo, JR Ueno, JR Shinjuku, JR Shibuya, JR Ikebukuro, JR Shinagawa เป็นต้นครับ

การรับบัตร JR Pass

เวลาไปขอรับบัตร JR Pass เราต้องนำตั๋วแลกบัตร, พาสปอร์ตและเอกสารยืนยันสิทธิ์การซื้อบัตรของเราไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานแลกบัตรของ JR ครับ

เราไม่สามารถใช้ตั๋วแลกบัตรไปใช้ขึ้นรถไฟ JR ได้นะครับ ดังนั้นจึงควรเช็คเวลาทำการของสำนักงานแลกบัตรให้ดีเสียก่อน ผมคิดว่าถ้าเป็นไปได้ก็ควรไปแลกบัตร JR Pass ที่สำนักงานแลกบัตรในสนามบินที่เราไปถึงเลยจะดีกว่าครับ

นอกจากนี้เราต้องนำตั๋วแลกบัตรไปขอแลกบัตร JR Pass ภายในเวลา 3 เดือนหลังจากที่เราซื้อมานะครับ

เมื่อไปถึงที่สำนักงานแลกบัตรแล้ว เราก็แค่กรอกแบบฟอร์มง่ายๆ และยื่นหน้าพาสปอร์ตที่มีตราประทับ/สติ้กเกอร์พำนักระยะสั้นที่ได้มาตอนเข้าประเทศครับ ถึงตอนนี้หากชื่อในพาสปอร์ตกับชื่อที่ระบุในตั๋วแลกบัตรไม่ตรงกันจะไม่สามารถขอแลกบัตร JR Pass ได้นะครับ และประเภทของบัตร JP Pass ที่ระบุในตั๋วแลกบัตรก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อีกด้วย

รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่   http://www.japanrailpass.net/th/about_jrp.html (ภาษาไทย) ควรเช็คข้อมูลให้ดีก่อนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหานะครับ

การจองที่นั่งด้วยบัตร JR Pass

 

หากเรามีบัตร JR Pass แล้ว เราไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มใดๆ เวลาจองที่นั่งเลยครับ

train021

เวลาจองที่นั่งให้ยื่นแสดงบัตร JR Pass ที่สำนักงานท่องเที่ยวในสถานี JR, สำนักงานจำหน่ายตั๋ว JR “มิโดริ โนะ มาโดะกุจิ”, หรือบริษัททัวร์ที่ทาง JR กำหนด เพื่อขอรับตั๋วจองที่นั่งกับเจ้าหน้าที่กับ (ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มสำหรับรถไฟบางประเภท เช่น ชินคันเซ็นรถด่วน”โนโซมิ”, รถด่วน “มิสุโฮะ” เป็นต้น)

สำหรับที่นั่งธรรมดาที่ไม่ต้องระบุที่นั่ง (ยกเว้นชินคันเซ็นสายโทไคโด/ซันโย/คิวชู รถด่วน “โนโซมิ” และรถด่วน “มิสุโฮะ”) เราไม่จำเป็นต้องจองล่วงหน้าครับ สามารถใช้บริการได้เลยเพียงแค่แสดงบัตร JR Pass เท่านั้น

ปล : เราไม่สามาถใส่บัตร JR Pass เข้าไปในเครื่องตรวจตั๋วอัตโนมัติได้ เวลาจะใช้บัตรต้องแสดงบัตรกับเจ้าหน้าที่สถานีที่ประตูทางเข้านะครับ

 

コメントを残す